บทความลง นสพ.ฉบับที่4

พบกันอีกครั้งแล้วนะครับ ขอบคุณท่านผู้อ่านที่รักสุขภาพบางท่านที่โทรมาถามรายละเอียดข้อมูลเรื่องโรคเอดส์เพิ่มเติม ก็ไม่ได้บอกเบอร์ไว้หรอกครับ แต่ก็หาได้ไม่ยากเพราะเป็นเบอร์หน่วยงานที่ดูแลด้านสุขภาพอยู่แล้ว วันนี้ขอพักเรื่องราวเกี่ยวกับเอดส์โดยตรงไว้ก่อนนะครับ เปลี่ยนบรรยากาศมาเรียนรู้เกี่ยวกับวัณโรคบ้าง ซึ่งก็เป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับโรคเอดส์อย่างยิ่งเพราะเป็นโรคแทรกซ้อนที่เกิดเนื่องจากติดเชื้อเอชไอวีและทำให้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก


ก่อนอื่น คงไม่สายเกินไปที่คอลัมภ์นี้จะขอถือโอกาสต้อนรับ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรีคนใหม่ นายแพทย์อภิชาติ รอดสม คนหนุ่มไฟแรง และติดดินทำงานภายใต้สโลแกน คนสำราญ งานสำเร็จ นับเป็นความโชคดีของคนเมืองกาญจน์ เพราะท่านเป็นผู้ที่มุ่งมั่นในการพัฒนาสุขภาพของประชาชนอย่างแท้จริง ผลงานที่ผ่านมาเป็นที่ประจักษ์และได้รับรางวัลดีเด่นมากมาย ขอต้อนรับด้วยความยินดีครับ

สำหรับเรื่องวัณโรค บางท่านอาจจะมองข้าม แต่บางครอบครัวก็ได้รับผลกระทบมากมาย เป็นโรคที่รักษาแต่กว่าจะหายก็ใช้เวลา ถึง ๖ – ๘ เดือน ถ้ากินยาไม่ต่อเนื่องเชื้อจะกลายเป็นเชื้อดื้อยา ต้องรักษาไม่น้อยกว่า 18 เดือน และก็ไม่ค่อยหายด้วย ประเทศไทย พบผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ปีละประมาณ แปดหมื่นคน เป็นเชื้อดื้อยาประมาณร้อยละแปด สำหรับกาญจนบุรี พบผู้ป่วยปีละ 1,000 – 1,200 คน แต่ถ้ามีการค้นหาอย่างจริงจังร้อยเปอร์เซ็นคาดว่าจะพบผู้ป่วยมากกว่านี้ประมาณสองเท่า และพบผู้ป่วยเชื้อดื้อยาทุกอำเภอ แต่พบมากที่ อำเภอท่ามะกา เมือง และท่าม่วง ปีนี้พบทั้งสิ้น 30 รายแล้ว วัณโรครักษาเร็วหรือรักษาตั้งแต่เป็นใหม่ ๆ จะเสียค่ารักษาไม่ถึงครึ่งหมื่น แต่ถ้าเป็นเชื้อดื้อยาต้องใช้เงินถึงสองแสนบาทต่อคนและก็ไม่รับประกันว่าจะหายขาดทุกราย จึงถือเป็นหลักว่า วัณโรครู้เร็ว ไม่ขาดยา รักษาหาย

วัณโรค Tuberculosis) (หรือ ทีบี (TB) เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ชื่อ มัยโคแบคทีเรีย ทูเบอร์คูโลซิส มีรูปร่างเป็นแท่งมีขนาดเล็กมากมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น ต้องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ขยายจึงจะเห็นตัวเชื้อวัณโรค วัณโรค สามารถเป็นได้กับอวัยวะทุกส่วนของร่างกาย เช่น ปอด ลำไส้ ไต กระดูก ผิวหนัง ต่อมน้ำเหลือง และเยื่อหุ้มสมอง แต่ที่พบบ่อยและเป็นปัญหามากในปัจจุบัน คือ วัณโรคปอด วัณโรคติดต่อโดยการแพร่กระจายจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่ง ทางระบบหายใจ โดยผู้ป่วยที่มีเชื้อในเสมหะ พูด คุย ไอ จาม โดยไม่ปิดปาก เชื้อวัณโรคจะลอยไปกับละอองเสมหะที่ผู้ป่วยไอ จาม ออกมา ผู้ที่สูดหายใจเอาเชื้อวัณโรคเข้าสู่ร่างกาย ทำให้มีโอกาสติดเชื้อและป่วยเป็นวัณโรคได้ ผู้ที่ได้รับเชื้อแล้ว ไม่จำเป็นต้องป่วยเป็นวัณโรคทุกคน เพราะว่าร่างกายมีกลไกหลายอย่างที่จะต่อสู่และป้องกันเชื้อวัณโรค มีเพียงร้อยละ 10 ของผู้ที่ติดเชื้อวัณโรคเท่านั้นที่จะป่วยเป็นวัณโรค เชื้อวัณโรคจากเสมหะที่ปลิวในอากาศ โดยไม่ถูกแสงแดดจะมีชีวิตได้นาน 8 – 10 วัน แสงอาทิตย์จะทำลายเชื้อวัณโรคได้ภายใน 5 นาที และจะถูกทำลายได้ในน้ำเดือด 2 นาที การทำลายเชื้อจากเสมหะที่ดีที่สุดจึงใช้ความร้อน เช่น การเผาทิ้ง

ผู้ป่วยวัณโรคจะมีอาการหลายชนิด ที่สำคัญคือ ไอติดต่อกันเกิน 2 สัปดาห์ อาการอื่น ๆ ที่อาจพบ ได้แก่ ไอแห้ง ๆ หรือไอมีเสมหะ หรือ ไอมีเสมหะปนเลือด เจ็บหน้าอก เหนื่อยหอบ มีไข้ต่ำ ๆ ตอนบ่ายหรือค่ำ เบื่ออาหาร น้ำหนักลด อ่อนเพลีย การตรวจเสมหะด้วยกล้องจุลทรรศน์ เป็นวิธีที่สามารถบอกได้แน่นอนว่าผู้ป่วยเป็นวัณโรคปอด เพราะสามารถมองเห็นเชื้อวัณโรคปอดในเสมหะได้ การตรวจเสมหะเพื่อหาเชื้อวัณโรค ควรตรวจ 3 ครั้ง การเอกซเรย์ปอด อย่างเดียวไม่สามารถบอกได้แน่นอนว่าป่วยเป็นโรควัณโรคปอด ต้องได้รับการตรวจเสมหะร่วมด้วย ในรายที่สงสัยว่าเป็นวัณโรคแต่ตรวจเสมหะไม่พบเชื้อ ต้องทำการเพาะเชื้อวัณโรคด้วย ทุกท่านควรไปตรวจหาเชื้อวัณโรค เมื่อมีอาการ ไอติดต่อกันเกิน 2 สัปดาห์ ไอมีเลือดปน มีไข้ต่ำ ๆ ตอนบ่าย หรือค่ำ เบื่ออาหาร น้ำหนักลด อ่อนเพลีย เหงื่อออกตอนกลางคืน เมื่ออยู่ใกล้ชิดหรืออยู่บ้านเดียวกับผู้ป่วยวัณโรคปอด ผู้ติดเชื้อเอช ไอ วี (เอดส์) ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ผู้ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน กลุ่มเสี่ยงพิเศษอื่น ๆ เช่น ผู้ติดสารเสพติด ผู้ต้องขัง แรงงานต่างด้าว แรงงานย้ายถิ่น ควรปฏิบัติตัวอย่างไรขณะป่วยและรักษา กินยาทุกชนิดตามที่แพทย์สั่งอย่างต่อเนื่อง และพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง จนกว่าแพทย์สั่งหยุดยา เมื่อกินยาประมาณ 2 สัปดาห์ อาการจะดีขึ้นห้ามหยุดยา เพราะจะทำให้เชื้อ วัณโรคดื้อยา รักษาหายยาก ใช้ผ้าปิดปากและจมูกเวลาไอ หรือ จาม เพื่อป้องกันมิให้เชื้อแพร่กระจายไปสู่ผู้อื่น บ้วนเสมหะลงในภาชนะหรือกระป๋องที่มีฝาปิดแล้วฝังดิน นำไปเผา หรือเทลงส้วมแล้วเทน้ำลาดให้สะอาด จัดสถานที่พักอาศัยให้สะอาดถ่ายเทสะดวก แสงแดดส่องถึง และหมั่นนำเครื่องนอกออกตากแดด ควรนำผู้สัมผัสโรคร่วมบ้านหรือใกล้ชิดผู้ป่วย โดยเฉพาะเด็กไปรับการตรวจร่างกายที่สถานบริการสาธารณสุขหรือโรงพยาบาลใกล้บ้านทุกแห่ง

ด้วยความปรารถนาดี จาก นายวิจารณ์ นามสุวรรณ

สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี



หยุด

หยุดเสียที ที่หมายมั่น วันเสียสาว    หยุดเรื่องราว คาวโลกีย์ ที่อดสู


หยุดก่อนสาย หยุดคิด พินิจดู           หยุดเถิดสู ผู้คิดทำ ถลำใจ


เป็นหญิงไทย ให้รักนวล สงวนไว้     รักฤๅใคร่ ให้ตรอง ผองสาวใส


อย่าชิงสุก ก่อนห่าม ตามแต่ใจ        สิ่งที่ได้ ไม่คุ้มเสีย นะสาวเอย



การป้องกันการเสียตัว

4 ขั้นตอน ป้องกันการเสียตัว
วัยรุ่นผู้ชายมากมายหลายคนที่เป็นสมาชิก "หน่วยล่าพรหมจรรย์" เขาทั้งหลายจะรู้สึกภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งเมื่อได้ "ทำแต้ม" ในการจีบทิ้งจีบขว้าง…เมื่อสาวหลงใหล ก็ผลักไสเพื่อหา (เหยื่อราย) ใหม่ต่อไป เก็บสถิติให้หมดทุกคณะในมหาวิทยาลัย จีบแล้วฟัน ฟันแล้วทิ้ง เป็นวัฏจักรแห่งกิจกรรมชีวิต…เป็นความภาคภูมิใจอย่างหนึ่งของชีวิตจะมีวิธีการใดที่สาว ๆ วัยรุ่นที่น่ารักทั้งหลาย จะหลีกหนีมิให้ตนต้องตกเป็นเหยื่อของบุคคลดังกล่าว
1. อย่าเปิดโอกาส จากการสัมภาษณ์วัยรุ่นจำนวนมาก พบว่าการมีเซ็กส์ครั้งแรกไม่ได้เกิดขึ้นโดยความตั้งใจหรือมีการเตรียมความพร้อม ส่วนใหญ่เกิดขึ้นเพราะบรรยากาศพาไป อยู่กันสองต่อสองหรือสถานที่ลับหูลับตา ถ้าเขาชักชวนไปในที่ดังกล่าว เราก็ขอเปลี่ยนเป็นสถานที่ที่ผู้คนชุกชุม เวลาค่ำมืดก็ต้องหลีกเลี่ยง แผนการที่เขาได้วางไว้ ไม่สามารถลงมือได้ เพราะโอกาสไม่เอื้ออำนวย อย่าคิดว่าผู้ชายดี ๆ จะไม่เคยคิดชั่ว เพราะมีวัยรุ่นคิดชั่วเป็นประจำ แต่ดีอยู่อย่างคือไม่เคยลงมือเพราะไม่มีโอกาส จากคนที่คิดชั่วเป็นประจำ มาเป็นเลิกคิดชั่วแล้ว…การเปลี่ยนแปลงตรงนี้เราเรียกว่า "วุฒิภาวะ" (Maturity) ส่วนหนึ่งของวุฒิภาวะคือความสามารถในการควบคุมอารมณ์ความต้องการของตนหรือยับยั้งชั่งใจที่จะกระทำตามความแรงขับภายในจิตใจของตนเอง หรือพูดให้จำง่าย ๆว่า "สมองส่วนคิดควบคุมสมองส่วนอยาก"
เพราะฉะนั้น ในท่ามกลางหมู่เพื่อนวัยหนุ่มฉกรรจ์ซึ่งยังอ่อนวุฒิภาวะ สมองส่วนอยากทำงานมากกว่าสมองส่วนคิด
การปิดโอกาสมิให้ผู้ชายประพฤติชั่ว มีค่าเท่ากับการเปิดโอกาสให้เขารักษาความดี
2. อย่าเปิดเผยทรวดทรง ต้องรู้ว่าผู้ชายกับผู้หญิง อารมณ์ทางเพศตื่นตัวเร็วช้าต่างกัน เพราะฉะนั้น เสื้อผ้าน้อยชิ้นหรือรัดรูป เห็นร่องรอยทรวดทรงองค์เอวของคุณผู้หญิง เป็นเสมือนเครื่องกระตุ้นให้ผู้ชายดีๆแปลงร่างกลายพันธุ์เป็นสุนัขป่าล่าเหยื่อได้ ผู้หญิงอาจบอกว่าแต่งโชว์กันเองในหมู่เพื่อนหญิง หนูไม่คิดอะไรมาก…แต่ผู้ชายรู้สึกเยอะ เพราะฉะนั้นกันไว้ดีกว่าแก้
3. อย่าเปิดไฟเขียว เป็นผู้หญิงต้องหัดรู้จักปฏิเสธซะบ้าง ไม่ใช่ผู้ชายจะทำอะไร เราไม่ชอบก็ยอมเขาไปหมด ต้องรู้จักใช้ปากในการปฏิเสธ หัดพูดคำว่า "ไม่" "อย่า" "หยุด" …สองคำหลัง ห้ามพูดติดกัน! คำปฏิเสธของเราเปรียบเสมือนสัญญาณไฟแดงบอกให้ฝ่ายชายหยุดการกระทำใดๆ ที่เป็นการเคลื่อนไหว…ถ้ายังไม่หยุด แนะนำว่าควรลุกเดินหนี เพราะบางราย ถ้าเราแค่พูดเฉยๆ เขาอาจคิดว่าเราปฏิเสธพอเป็นพิธี เวลาไปดูหนังด้วยกัน ในโรงหนังจะปิดไฟมืด แม้มีคนมาก แต่ก็เหมือนอยู่กันสองต่อสอง ดูหนังไปอาจเห็นฉากเลิฟซีนยั่วเย้าให้เกิดอารมณ์…ขณะเดียวกันกับที่ฝ่ายชายก็รุกเร้าด้วยการสัมผัส อาจเริ่มต้นที่วงแขนก่อนที่จะขยายวงกว้างขึ้น ๆ เราเป็นผู้หญิง ไม่ถูกใจก็ต้องกล้าพูด "นี่เธอทำอะไร หยุดนะ! เอามือออกจากแขนฉันเดี๋ยวนี้….แล้วไปวางไว้ที่หน้าขา" หมายถึงหน้าขาของฝ่ายชายนะคะ! อย่าเข้าใจผิด!
4. เจอกันครึ่งทาง บ่อยครั้งเหลือเกินที่ผู้หญิงเองก็ได้รับสัมผัสแห่งความรู้สึกอันอบอุ่น ไว้วางใจ เชื่อมั่น ปลอดภัย และอะไรต่อมิอะไรอีกมากมายซึ่งยากต่อการปฏิเสธ…คุณก็รอโอกาสนี้มานานแล้ว ความรู้สึกโหยหาและหวงแหนทำให้คุณมิอาจเอ่ยคำพูดอันเป็นเหตุทำให้ชายที่คุณรักรีบ "ถอนสมอ" ขณะที่เขากำลังเตรียมพร้อมจะจอดเทียบ "ท่าใจ" ของคุณ
คุณจึงไม่ยอมให้เขา "มือหลุด" เพราะไม่อยากให้เขา "หลุดมือ" ด้วยเหตุที่เขาเป็นผู้ชายที่คุณมองเห็นแล้วว่าดีพอสำหรับคุณ… การสัมผัสทางกาย เป็นการสื่อสารความรู้สึกผูกพันต่อกัน บ่งบอกอีกหลากหลายอารมณ์ที่ถ้อยคำวาจาก็มิอาจแทนใจ…แต่คุณจะกั้นพรมแดนของการสัมผัสอยู่แค่ไหน เพื่อที่จะถ่ายเทความรักจากใจสู่ใจระหว่างกัน…โดยที่คุณทั้งสองตระหนักถึงความไม่พร้อมที่จะมี "มีเพศสัมพันธ์" ถ้าแฟนขอที่จะมีความสัมพันธ์ด้วย แต่คุณคิดว่าตอนนี้ยังไม่ใช่เวลาที่จะไปถึงจุดนั้น…ต้องรู้เทคนิคการเจรจาต่อรองเพื่อพบกันครึ่งทาง…สถานการณ์สมมติ…
คุณพ่อจะทำยังไง ถ้าลูกสาวอยากให้คุณพาไปดูหนัง แต่คุณพ่ออยากนอนพักผ่อนอยู่กับบ้าน จะไปดูหนังตามใจลูกสาวก็ฝืนใจตัวเอง จะบังคับให้ลูกสาวอยู่บ้านก็ไม่อยากขัดใจลูก…ทางออกที่ไม่ทำร้ายจิตใจทั้งสองฝ่ายอาจเป็นการตกลงเช่า VDO มาดูที่บ้านดีกว่า…อย่างนี้เรียกว่า "เจรจาต่อรอง" เป็นการพบกันครึ่งทางโดยแท้
อาจหัดพูดประโยคต่อไปนี้…
"ฉันรักเธอมาก แต่ฉันยังไม่พร้อม แค่เธอกอดฉันไว้แน่น ๆ ฉันก็มีความสุขแล้ว"
"ฉันจะยอมต่อเมื่อเราเป็นสามีภรรยากันแล้วเท่านั้น"
ข้อมูลข้างต้นคงเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยสาว ๆ วัยรุ่นหลายคนได้มากเลยทีเดียวค่ะ และหวังเป็นอย่างยิ่งนะคะว่าภาษิตไทยที่ว่า “อดเปรี้ยว ไว้กินหวาน” จะยังใช้ได้เป็นอย่างดีกับน้องๆ วัยรุ่นในยุคนี้ค่ะ

บทความลง นสพ.ฉบับที่2

สวัสดีท่านผู้อ่านที่เคารพทุกท่าน ฉบับที่แล้วเป็นครั้งแรกที่เราได้พบกัน ก็เป็นการเรียนรู้เรื่องเอดส์และภัยสุขภาพในตอนแรก ๆ แต่ยังไม่จบนะครับ สำหรับฉบับนี้จะขออนุญาตขั้นด้วยเรื่องที่เกี่ยวข้องกับวันรุ่นหรือเยาวชนก่อน เพราะช่วงเดือนนี้ทุกท่านก็ทราบดีว่าเป็นเทศกาลวันวาเลนไทน์หรือวันแห่งความรัก ถึงแม้จะเป็นวัฒนธรรมของต่างชาติ คนไทยเราก็ให้ความสนใจไม่น้อย เพราะขึ้นชื่อว่าความรัก ชนชาติไหน ๆ ก็ไฝ่หาทั้งนั้น คนมีความรัก รักได้ รักเป็น ก็จะเป็นคุณที่ยิ่งใหญ่สำหรับตัวเขาเอง แต่ถ้าหากใช้ความรักไม่เป็น (เช่น รักแต่ตัวเอง เห็นแก่ตัว) ก็จะได้รับผลกระทบจากความรักนั้นเสมอ
เมื่อพูดถึง วันวาเลนไทน์ก็อยากจะเล่าความเป็นมาให้ทราบพอสังเขป ครับ วันวาเลนไทน์มีมาตั้งแต่สมัยจักรวรรดิโรมัน ในกรุงโรมสมัยก่อนถือเอา วันที่ 14 กุมภาพันธ์ เป็นวันเฉลิมฉลองของจูโน ราชินีแห่งเหล่าเทพและเทพธิดาของโรมัน เป็นเทพธิดาแห่ง อิสตรีและการแต่งงาน และในรัชสมัยของ จักรพรรดิคลอดิอัสที่ 2 (Emperor Claudius II) แห่งกรุงโรม ซึ่งเป็นกษัตริย์ที่มีใจคอดุร้ายและทรงนิยมการทำสงครามนองเลือด ได้ทรงตระหนักว่าเหตุที่ ชายหนุ่มส่วนมากไม่ประสงค์จะเข้าร่วม ในกองทัพเนื่องจากไม่อยากจากคู่รัก จึงมีพระราชโองการสั่งห้ามมิให้มีการจัดพิธีหมั้นและแต่งงานกันในโรมโดยเด็ดขาด ทำให้ ประชาชนทุกข์ใจเป็นอย่างยิ่ง และขณะนั้นมีนักบุญรูปหนึ่งนามว่า เซนต์วาเลนไทน์ หรือวาเลนตินัส ซึ่งอาศัยอยู่ในโรมได้ จัดพิธีแต่งงานให้กับชาวคริสต์หลายคู่ และด้วยความปรารถนาดีนี้เองจึงทำให้วาเลนไทน์ถูกจับ ขณะเป็นนักโทษ เขาได้ตกหลุมรักหญิงสาวชื่อจูเลีย ที่เป็นบุตรสาวของผู้คุม เขาถูกตัดศีรษะ วันที่ 14 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 270 ศพของเขาได้ถูกเก็บไว้ที่โบสถ์พราซีเดส (Praxedes) ณ กรุงโรม จูเลียได้ปลูกต้นอามันต์ หรืออัลมอลต์สีชมพู ไว้ใกล้หลุมศพของวาเลนตินัส แด่ผู้เป็นที่รักของเธอ โดยในทุกวันนี้ ต้นอามันต์สีชมพูได้เป็นตัวแทนแห่งรักนิรันดรและมิตรภาพ อันสวยงาม และคำว่าวาเลนไทน์ ก็ใช้เป็นคำแทนความรัก มาจนถึงปัจจุบัน
ในบ้านเรา ในวันนี้มักจะถูกมองว่า เป็นวันเสียสาวบ้าง เป็นเสียตัวบ้าง ซึ่งค่านิยมนี้น่าจะได้รับการแก้ไข ขอให้วันนี้เป็นวันสร้างคุณค่าให้ชีวิต โดยเฉพาะเยาวชนทั้งหลายควรถือโอกาสเอาวันนี้ เป็นวันที่เริ่มต้นสร้างพลังแห่งตน โดยมีความรักที่บริสุทธิ์ ต่อพ่อแม่ ต่อครออบครัว ชุมชนและสังคม และเลิกแนวคิดที่จะมีความรักแบบสร้างภาระ หรือส่งผลกระทบต่อตัวเองและคนรอบข้าง เช่น การรักและมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร ประเพณีวัฒนธรรมไทยที่ดีงามในอดีตเราได้ละเลยไป แต่ตรงข้าม ในขณะนี้ ประเทศทางยุโรปและอเมริกา กำลังนำวัฒธรรมรักนวลสงวนตัวไปใช้มากขึ้น ก็น่าคิดนะครับ


ท่านทราบไหมครับว่าวัยรุ่นไทยตั้งครรภ์โดยไม่มีความพร้อม ถึงร้อยละ 16 สำหรับในจังหวัดกาญจนบุรี พบถึง ร้อยละ 21.9 ซึ่งตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ไม่ควรเกิน ร้อยละ 10 ปัญหานี้ส่งผลกระทบต่อเยาวชนและครอบครัวมากมายเช่น 1. ปัญหาการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควรส่งผลกระทบต่อสังคม โดยเป็นสาเหตุให้เกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมา ได้แก่ กระทบด้านจิตใจ สุขภาพไม่สมบูรณ์ การทำแท้ง เด็กถูกทอดทิ้งและเด็กเร่ร่อน ความเสื่อมของวัฒนธรรมอันดีของสังคมไทย ติดเชื้อเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และ คุณภาพของประชากรต่ำ เป็นต้น


ฉะนั้น คงเป็นหน้าที่ของทุกฝ่ายที่จะร่วมมือกันแก้ไขปัญหานี้ เช่น พ่อแม่ผู้ปกครองควรสร้างภูมิคุ้มกันเยาวชน โดยให้ความรักความอบอุ่น สื่อสารกันด้วยมธุรสวาจา ครูอาจารย์คอยเอาใจใส่สอดส่องดูแล สร้างศักยภาพและเจตคติที่ดีของเยาวชนให้รู้จักป้องกันตนเองมองเห็นคูณค่าตนเอง และตัวเยาวชนเองต้องรู้ทันเล่ห์เหลี่ยมกลโกงของคนที่คิดไม่ซื่อ หรือแม้แต่คนไกล้ชิดเองก็ตาม อยากจะฝากแนวทางการดูแลตัวเองเพื่อให้ปลอดภัยและไม่เสียสาว ดังนี้ 1. อย่าเดินที่เปลี่ยว และถ้าจำเป็นต้องเดินก็ควรจะไปกันเป็นกลุ่มใหญ่ 2. อย่าออกนอกบ้านในยามค่ำคืนโดยลำพัง 3. การแต่งกายจะต้องระวังอย่าแต่งยั่วยุทางกามรมย์ 4. เมื่อมีความไม่สบายใจ หรือภายหลังการทะเลาะกับบุคคลในบ้านหรือคนรัก ไม่ควรออกนอกบ้านโดยเด็ดขาด 5. ไม่เปิดโอกาสให้เพื่อนชายมาส่งที่บ้านยามค่ำคืนเด็ดขาด 6. หลีกเลี่ยงการคบเพื่อนหรือออกเที่ยวกับคนที่ไม่รู้จักหัวนอนปลายเท้า 7. จะต้องไม่เชื่อคารมหรือถ้อยคำของบุคคลแปลกหน้า หรือไม่คุ้นเคยอย่างสนิทใจ 8. อย่าเดินผ่านทางที่มืด ตรอกซอยที่เปลี่ยว ที่ไม่น่าไว้วางใจ


9. จะต้องไม่ไปมั่วสุ่มแหล่งเริงรมย์ต่าง ๆ 10. อย่าอยู่ในสวนสาธารณะในที่เปลี่ยวตามลำพัง 11. อย่าขับรถคนเดียวในเวลาค่ำคืน หญิงสาวจะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษตรวจตราว่าล็อดกลอนประตูทุกบานหรือยัง 12. อย่าไปเที่ยวบ้านผู้ชายหรืออยู่กับผู้ชายตามลำพังในสถานที่ลับตาคน และ 13. ต้องหลีกเลี่ยงการใช้สารเสพติดหรือเสพของมึนเมาทุกชนิด ส่วนเยาวชนชายเองก็ต้องไห้เกียรติผู้หญิงซึ่งเป็นเพศแม่ของเรา มีความรักที่รับผิดชอบและสร้างสรรค์ ไม่ชิงสุกก่อนห่าม ขอให้ อดเปรี้ยวไว้กินหวานนะครับ


ด้วยความปรารถนาดี


วิจารณ์ นามสุวรรณ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี

ภารกิจงานเอดส์ วัณโรค สสจ.กจ.

ภารกิจ ของงานเอดส์ วัณโรค โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และโรคเรื้อน
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี
นายวิจารณ์ นามสุวรรณ ตำแหน่ง นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการพิเศษ
******************************

1. อัตรากำลัง งานเอดส์ วัณโรค โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และโรคเรื้อน มีจำนวน 7
2. ภารกิจที่ได้รับมอบหมาย มีดังนี้
2.1 งานป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์
2.1.1 ดำเนินการตามเป้าหมาย Getting To Zero ได้แก่ 1.ลดอัตราการติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่โดยให้ความรู้และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี
2.1.2 พัฒนากลไกการป้องกันเอดส์ที่
2.1.3 เฝ้าระวังโรคเอดส์
2.1.4 พัฒนาและส่งเสริมการบริหารจัดการกองทุนเอดส์และวัณโรค
2.1.5 พัฒนาคุณภาพระบบบริการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยเอดส์ ตามโปรแกรม HIVQUAL-T
2.1.6 สนับสนุนและส่งเสริมให้หน่วยบริการใช้ดูแลรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยเอดส์ให้มีคุณภาพและได้มาตรฐาน
2.1.7 ควบคุม กำกับการดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาเอดส์ขององค์กรเอกชนและกลุ่มผู้ติดเชื้อ จำนวน 10 โครงการ
2.1.7 นิเทศ ควบคุม กำกับ สถานบริการ (รพท. รพช. รพ.สต.) ในการดำเนินงานเพื่อให้บรรลุตามตัวชี้วัดงานเอดส์
2.2 งานควบคุมและป้องกันวัณโรค
2.2.1 สร้างความเข้มแข็งในการดำเนินงานตามมาตรฐานแนวทางควบคุมวัณโรคแห่งชาติโดยการมีส่วนร่วมของชุมชนและองค์กรที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน
2.2.2 พัฒนากลไกความร่วมมือในการดำเนินงานควบคุมป้องกันวัณโรคในประชากรกลุ่มเสี่ยงพิเศษและพื้นที่ชายแดน
2.2.3 เฝ้าระวังป้องกันและควบคุมวัณโรคดื้อยาหลายขนาน (MDR-TB, XDR-TB)
2.2.4 พัฒนากลไกการประสานงานความร่วมมือระหว่างงานควบคุมวัณโรคและงานควบคุมโรคเอดส์ในทุกระดับเพื่อให้การดำเนินงานผสมผสานงานเอดส์และวัณโรคมีประสิทธิภาพ
2.2.5 พัฒนาศักยภาพบุคลากรผู้รับผิดชอบงานควบคุมและป้องกันวัณโรค
2.2.6 พัฒนาและส่งเสริมการบริหารจัดการกองทุนเอดส์และวัณโรค
2.2.7 ส่งเสริมให้ประชาชนและกลุ่มเสี่ยงเข้าถึงข้อมูลด้านวัณโรค
2.1.8 นิเทศ ควบคุม กำกับ สถานบริการ (รพท. รพช. รพ.สต.) ในการดำเนินงานเพื่อให้บรรลุตามตัวชี้วัดงานวัณโรค
2.3 งานควบคุมและป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
2.3.1 ส่งเสริมเฝ้าระวังและป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
2.3.2 ควบคุมแหล่งแพร่และผู้ให้บริการทางเพศ
2.3.3 สำรวจสถานบริการและผู้ให้บริการทางเพศ
2.3.4 รณรงค์ประชาสัมพันธ์และส่งเสริมการใช้ถุงยางอนามัย
2.3.5 จัดบริการคลินิกโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เพื่อรองรับกิจกรรมโครงการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีในกลุ่มที่เข้าถึงยาก (MARPs) ได้แก่ กลุ่มผู้ให้บริการทางเพศ
2.3.5.1 ชันสูตรโรค ตรวจรักษา ติดตามผู้ป่วยและผู้สัมผัสโรค
2.3.2.2 ให้สุขศึกษาและให้คำปรึกษาทางการแพทย์และสังคม
2.4 งานควบคุมและป้องกันโรคเรื้อน
2.4.1 ส่งเสริมประชาชนในพื้นที่สัมผัสโรคให้มีความรู้เรื่องโรคเรื้อน
2.4.2 ส่งเสริมให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและบริการด้านการป้องกันความพิการและการฟื้นฟูสภาพ
2.4.3 พัฒนาศักยภาพให้บุคลากรสาธารณสุขระดับตำบลที่มีผู้ป่วยในความรับผิดชอบสามารถให้บริการป้องกันความพิการและฟื้นฟูสภาพขั้นพื้นฐานได้
2.4.4 ส่งเสริม พัฒนาให้ผู้ป่วยและสมาชิกในครอบครัวมีความรู้ ทักษะ สามารถดูแลตนเองในด้านการป้องกันความพิการและฟื้นฟูสภาพอย่างยั่งยืน
2.4.5 ประสานการส่งต่อข้อมูลและผู้ป่วยเพื่อรับการรักษา ฟื้นฟู และสงเคราะห์ตามความเหมาะสม
3. แผนงาน/โครงการ ปี 2555
3.1 โครงการที่ได้รับงบประมาณจาก สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
3.1.1 โครงการส่งเสริมประสิทธิภาพการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์
3.1.2 โครงการส่งเสริมประสิทธิภาพการดำเนินงานควบคุมป้องกันวัณโรค
3.1.3 โครงการควบคุมและป้องกันโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ในกลุ่มผู้ให้บริการทางเพศ ปีงบประมาณ 2555
3.1.4 โครงการควบคุมป้องกันโรคเรื้อน ปีงบประมาณ 2555
3.1.5 โครงการเร่งรัดคัดกรองวัณโรค ปีงบประมาณ 2555
3.2 โครงการที่ได้รับงบประมาณจากกองทุนโลก
3.2.1 โครงการพัฒนากลไกการประสานงานป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี จังหวัดกาญจนบุรี (Provincial Co-ordinating Mechanism : PCM)
3.2.2 โครงการ “การเสริมสร้างความเข้มแข็งการควบคุมวัณโรคอย่างมีคุณภาพในกลุ่มประชากรด้อยโอกาสและการเสริมสร้างพลังชุมชนเพื่องานวัณโรคในจังหวัดกาญจนบุรี
3.3 โครงการที่ได้รับงบประมาณจากสำนักโรคเอดส์ วัณโรค โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
3.3.1 โครงการพัฒนาคุณภาพบริการการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ผู้ใหญ่และเด็กในประเทศไทย ปีงบประมาณ 2553 จังหวัดกาญจนบุรี
3.4 โครงการที่ได้รับงบประมาณจากกองทุนเอดส์และวัณโรค สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.แจ้ง รับหนังสือ 11 ม.ค.55)
๓.๔.๑ โครงการส่งเสริมประสิทธิภาพระบบบริหารจัดการและการบริการผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จังหวัดกาญจนบุรี ปี 2555

บทความลง นสพ.ฉบับที่1

                              เปิดเวทีเป็นปฐมฤกษ์สำหรับทุกท่าน เปิดโลกทัศน์และเรียนรู้โรคกับภัยที่คุกตามต่อสุขภาพของเรา บางสิ่งบางอย่างถ้าใส่ใจเรียนรู้ ทำความเข้าใจกับมันซักนิด ก็จะสามารถลดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินอย่างไม่ยากเย็นนัก เช่นโรคภัยที่ส่งผลต่อสุขภาพของเราอย่างโรคเอดส์ ส่วนใหญ่ท่านเคยได้ยินได้ฟังมามากแล้ว นึกว่าเข้าใจมันดี แต่ถามใจตัวเองจริงๆ ดูว่า เรารู้กว้างรู้สึกเกี่ยวกับเรื่องนี้ขนาดไหน รู้ทันโรคขนาดไหน เราเสี่ยงต่อการติดเชื้อขนาดไหน จากการวิจัยพบว่า บางคนรู้แบบผิวเผิน และก็นึกว่าตัวเองรู้แล้ว แถมยังไม่อยากพูดถึงอีกต่างหาก บางคนมีความรู้จริงแต่ไม่สามารถจัดการตัวเองให้ตัวเองรู้จักวิธีป้องกันได้ จนกระทั่งพาตัวไปติดเชื้อมาโดยไม่ตั้งใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าเสียดาย  คอลัมน์นี้ ท่านจะได้ทราบว่า สถานการณ์เอดส์เป็นอย่างไร เอดส์คืออะไร ติดต่อและป้องกันอย่างไร ใครมีโอกาสเสี่ยง ผลกระทบที่เกิดจากการเป็นโรคเอดส์มีอะไรบ้าง รวมถึงการจัดการตัวเองเมื่อพบว่าตัวเองติดเชื้อไปแล้ว  ลองติดตามข้อมูลไปเรื่อยๆ นะครับ
          กว่า 30 ปี ที่พบโรคเอดส์เกิดขึ้นในโลก เราได้ต่อสู้และพยายามแก้ไขปัญหานี้ แต่ยังไม่สำเร็จ เราพบผู้ป่วยโรคเอดส์เกิดขึ้นในโลก กว่า 45 ล้านคนทั่วภูมิภาคของโลก เกิดผลกระทบและการสูญเสียมากมายสำหรับประเทศไทย พบผู้ป่วยกว่าห้าแสนคน นี่ยังไม่นับผู้ที่ติดเชื้ออีกกว่าแปดแสนคน และที่ยังไม่ตรวจอีกเป็นจำนวนมาก สำหรับจังหวัดกาญจนบุรี พบผู้ป่วยเอดส์ 5,400 ราย ไม่รวมผู้ติดเชื้อในร่างกายแต่ยังไม่เคยตรวจ ฉะนั้นเอดส์คงไม่ห่างจากตัวเรามากนักหรอก ถ้ายังไม่รู้ทันคงจะเข้าสู่ครอบครัวเราแน่
          โรคเอดส์เกิดจากเชื้อไวรัสเอชไอวี เป็นจุลชีพขนาดเล็กมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น ก่อให้เกิดโรคเอดส์และทำให้เสียชีวิต เชื้อนี้จะแพร่กระจายผ่านทางเลือด น้ำอสุจิ น้ำนมแม่ และสารคัดหลั่งในช่องคลอด  โชคดีที่เชื้อเอชไอวี ไม่สามารถแพร่ระบาดได้ง่ายเหมือนเชื้อไข้หวัดใหญ่ และการแพร่ระบาดก็ยังป้องกันได้
           เอชไอวี(HIV) มีชื่อเต็มว่า Human Immunodeficiency Virus ซึ่งทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายอ่อนแอลง ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำหน้าที่ต่อต้านโรค ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายประกอบด้วย สิ่งต่าง ๆ หลายชนิด เช่น เม็ดเลือดขาวชนิด CD4 ซึ่งเชื้อเอชไอวีจะเข้าโจมตีระบบภูมิคุ้มกันโดยการทำลาย CD4 ซึ่งมีหน้าที่ในการกำจัดเชื้อโรคที่เข้ามาในร่างกาย เมื่อเวลาผ่านไป เชื้อเอชไอวีจะค่อย ๆ ทำลายระบบภูมิคุ้มกันไปเรื่อย ๆ จนในที่สุด ภูมิคุ้มกันของร่างกายก็ไม่สามารถทำหน้าที่ได้ตามปกติ ในที่สุดเชื้อโรคที่ไม่เคยทำให้เกิดความเจ็บป่วยได้ ก็ก่อให้เกิดโรคต่าง ๆ ได้ ผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่ระบบภูมิคุ้มกันเสื่อม จะเสียชีวิตจากโรคแทรกซ้อนหลายชนิดได้ ในระหว่างที่ภูมิคุ้มกันค่อย ๆ ถูกทำลาย ซึ่งอาจใช้เวลาหลายปี ผู้ติดเชื้ออาจไม่แสดงอาการเจ็บป่วยใด ๆ แต่สามารถแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้
          ส่วนที่เราเรียกว่าเอดส์หรือ AIDS ย่อมาจาก Acquired Immune Deficiency Syndrome ก็คือกลุ่มอาการที่เกิดจากภูมิคุ้มกันบกพร่อง กลุ่มอาการเป็นคำรวมที่หมายถึงกลุ่มของอาการหรือการเจ็บป่วยที่ปรากฏร่วมกัน  ที่เกิดขึ้นจากการที่ภูมิคุ้มกันถูกทำลายลงอย่างมาก จน CD4 เหลือน้อยมาก ร่างกายก็จะไม่สามารถต่อสู้กับโรคฉวยโอกาสบางชนิด และเนื้องอกต่าง ๆ ได้  ผู้ป่วยในระยะนี้จึงมีความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยต่าง ๆ เช่น วัณโรค ปอดอักเสบ และมะเร็งชนิดต่าง ๆ  ผู้ป่วยจะมีอาการแตกต่างกันตามแต่ชนิดของโรคฉวยโอกาสที่เกิดขึ้น ซึ่งไม่เหมือนกับผู้ป่วยโรคอื่น ๆ ที่มักจะมีอาการเหมือน ๆ กันทุกราย ด้วยเหตุนี้เอง เราจึงไม่สามารถให้การวินิจฉัยโรคเอดส์จากอาการใดอาการหนึ่งได้ ต้องอาศัยการตรวจจากแพทย์เท่านั้น เราไม่สามารถบอกได้ว่าใครติดเชื้อเอชไอวี โดยจากอาการดูภายนอกได้ เพราะผู้ติดเชื้ออาจไม่แสดงอาการใด ๆ เป็นระยะเวลานาน ซึ่งระยะนี้เราเรียกว่าเป็นระยะที่ไม่แสดงอาการ เมื่อมีการทำลายระบบภูมิคุ้มกันมากขึ้นเรื่อย ๆ ผู้ติดเชื้อจึงอาจเริ่มแสดงอาการที่สัมพันธ์กับเอดส์ เมื่อมีอาการดังกล่าวมากขึ้นสักระยะหนึ่งก็จะเข้าสู่ระยะแสดงอาการของโรคเอดส์เต็มขั้น ในระยะนี้หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสมก็อาจเสียชีวิตจากโรคเอดส์ได้ในที่สุด
          ผู้ติดเชื้อเอชไอวีมักจะมีชีวิตอยู่เป็นปกติโดยไม่รู้ว่าตนเองติดเชื้อดังกล่าว ดังนั้นเขาจึงอาจแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นได้โดยไม่รู้ตัว นอกจากนั้น เชื้อเอชไอวียังสามารถทำให้ผู้ที่ติดเชื้อมีโอกาสติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ ได้ง่ายขึ้น  และการที่ผู้ติดเชื้อจะเริ่มเป็นเอดส์เต็มขั้นนั้น ขึ้นอยู่กับสุขภาพของแต่ละคน ทั้งสุขภาพกาย สุขภาพจิตและปัจจัยอื่น ๆ เช่น การดูแลตัวเอง การพักผ่อน การออกกำลังกาย การรับประทานอาหารที่ถูกต้อง และสภาพจิตใจที่เข้มแข็ง ซึ่งระยะเวลาในช่วงนี้อาจยาวนานได้ตั้งแต่ 3 10 ปีหลังจากติดเชื้อ (ส่วนใหญ่จะอยู่ที่ 9 -10 ปี) และจากการที่ผู้ติดเชื้อได้รับการดูแลทางการแพทย์และได้รับยาต้านไวรัสมากขึ้น จะทำให้ผู้ติดเชื้อ/ผู้ป่วยเอดส์มีชีวิตอยู่อย่างปกติสุขยาวนานถึง 20 ปี หรือมากกว่านั้นก็ได้
          ผู้ที่จะติดเชื้อเอชไอวีได้ คือผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงหรือได้ไปสัมผัสกับเชื้อเอชไอวีมาสามารถติดเชื้อได้ทั้งสิ้น คนทั่วไปมักคิดว่าคนที่อ้วนท้วนสมบูรณ์ คนที่มีสุขภาพดี หรือคนที่อยู่ในสังคมชั้นสูง ไม่ติดเชื้อเอชไอวี ความเชื่อนี้ไม่เป็นความจริง เชื้อเอชไอวีแพร่กระจายทางพฤติกรรมเสี่ยง ดังนั้นใครก็ตามที่มีพฤติกรรมเสี่ยงและมีโอกาสสัมผัสกับเชื้อไม่ว่าจะมีชั้นวรรณะ รูปร่าง อายุ ระดับการศึกษา อาชีพ หรือเชื้อชาติเป็นเช่นใดก็ติดเชื้อได้ทั้งนั้น ยกเว้นทารกซึ่งมีโอกาสติดเชื้อจากแม่ได้โดยที่ตัวเองไม่ได้ทำพฤติกรรมเสี่ยง      ฉบับหน้า ท่านจะได้ทราบ แหล่งที่อยู่ของเชื้อเอชไอวี การแพร่กระจายเชื้อ และการป้องกันการติดเชื้อ ติดตามเราไปเรื่อย ๆ นะครับ
                                                                                 สวัสดี
                                                  วิจารณ์ นามสุวรรณ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี
         

บทบาทหน้าที่งานเอดส์ วัณโรค ฯ

บทบาทหน้าที่ของ งานเอดส์ วัณโรค โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และโรคเรื้อน
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี  โทร. 0 3451 5344
*****************************************************

               1.  งานป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์
1.1 ดำเนินการตามเป้าหมาย Getting To Zero ได้แก่
        1. ลดอัตราการติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่  โดยให้ความรู้และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี  เน้นกลุ่มเป้าหมายหลัก 7 กลุ่ม ได้แก่ เยาวชน แรงงานในโรงงาน  แรงงานต่างด้าว  ผู้ใช้สารเสพติด  พนักงานบริการ  และผู้มีความหลากหลายทางเพศ (MSM) และผู้ติดเชื้อ/ผู้ป่วย
        2. ลดการตายด้วยโรคเอดส์
        3. ลดการเลือกปฏิบัติ การรังเกียจและแบ่งแยกผู้ป่วย การละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐาน
1.2 พัฒนากลไกการป้องกันเอดส์ที่ยั่งยืน  ได้แก่ กลไกการจัดทำยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการ
ป้องกันเอดส์  กลไกการสร้างเครือข่ายความร่วมมือจากทุกภาคส่วน  กลไกการมีและใช้ข้อมูล
และวิชาการด้านเอดส์  เป็นต้น)
1.3 เฝ้าระวังโรคเอดส์
         1. เฝ้าระวังพฤติกรรมเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี(BSS) ในกลุ่มเป้าหมาย 7 กลุ่ม
         2. เฝ้าระวังการติดเชื้อเอชไอวีเฉพาะพื้นที่และโรคซิฟิลิส ในกลุ่มเป้าหมาย 5 กลุ่ม
         3. เฝ้าระวังการป่วยและตายด้วยโรคเอดส์ (บัตร รง. 506/1 รง.507/1)
1.4 พัฒนาและส่งเสริมการบริหารจัดการกองทุนเอดส์และวัณโรค
1.5 พัฒนาคุณภาพระบบบริการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยเอดส์  ตามโปรแกรม   
      HIVQUAL-T
1.6 สนับสนุนและส่งเสริมให้หน่วยบริการใช้มาตรฐานการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วย
      เอดส์ตามแนวทางการตรวจวินิจฉัยและการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์
      ระดับชาติ ปี พ.ศ. ๒๕๕๓  นโยบายและแนวทางการดำเนินงานป้องกันการถ่ายทอดเชื้อ
      เอชไอวีจากแม่สู่ลูกสำหรับประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๕๔  โครงการให้บริการยาต้านไวรัส
      สำหรับผู้ติดเชื้อ/ผู้ป่วยเอดส์ภายใต้การสนับสนุนจากกองทุนโลก (NAPHA EXTENSION)
1.7 ควบคุม กำกับการดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาเอดส์ขององค์กรเอกชนและกลุ่มผู้ติดเชื้อ 
      จำนวน 10 โครงการ
1.7 นิเทศ ควบคุม กำกับ สถานบริการ (รพท. รพช. รพ.สต.) ในการดำเนินงานเพื่อให้บรรลุ
      ตามตัวชี้วัดงานเอดส์
                2.  งานควบคุมและป้องกันวัณโรค
                     2.1 สร้างความเข้มแข็งในการดำเนินงานตามมาตรฐานแนวทางควบคุมวัณโรคแห่งชาติโดย
                           การมีส่วนร่วมของชุมชนและองค์กรที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน
                     2.2 พัฒนากลไกความร่วมมือในการดำเนินงานควบคุมป้องกันวัณโรคในประชากรกลุ่มเสี่ยงพิเศษ
                           และพื้นที่ชายแดน
                     2.3 เฝ้าระวังป้องกันและควบคุมวัณโรคดื้อยาหลายขนาน (MDR-TB, XDR-TB)
                     2.4 พัฒนากลไกการประสานงานความร่วมมือระหว่างงานควบคุมวัณโรคและงานควบคุมโรค
                           เอดส์ในทุกระดับเพื่อให้การดำเนินงานผสมผสานงานเอดส์และวัณโรคให้มีประสิทธิภาพ
                     2.5 พัฒนาศักยภาพบุคลากรผู้รับผิดชอบงานควบคุมและป้องกันวัณโรคในทุกระดับ
                     2.6 พัฒนาและส่งเสริมการบริหารจัดการกองทุนเอดส์และวัณโรคของ สปสช.
                     2.7 ส่งเสริมให้ประชาชนและกลุ่มเสี่ยงเข้าถึงข้อมูลด้านวัณโร
                     2.8 นิเทศ ควบคุม กำกับ สถานบริการ (รพท. รพช. รพ.สต.) ในการดำเนินงานเพื่อให้บรรลุ
       ตามตัวชี้วัดงานวัณโรค
                 3. งานควบคุมและป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
                     3.1 ส่งเสริมเฝ้าระวังและป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
                     3.2 ควบคุมแหล่งแพร่และผู้ให้บริการทางเพศ
                     3.3 สำรวจสถานบริการและผู้ให้บริการทางเพศ
                     3.4 รณรงค์ประชาสัมพันธ์และส่งเสริมการใช้ถุงยางอนามัย
                     3.5 จัดบริการคลินิกโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เพื่อรองรับกิจกรรมโครงการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีในกลุ่มที่
                           เข้าถึงยาก (MARPs) ได้แก่ กลุ่มผู้ให้บริการทางเพศ
                           3.5.1 ชันสูตรโรค ตรวจรักษา  ติดตามผู้ป่วยและผู้สัมผัสโรค
                           3.2.2 ให้สุขศึกษาและให้คำปรึกษาทางการแพทย์และสังคม
                 4. งานควบคุมและป้องกันโรคเรื้อน
                      4.1  ส่งเสริมประชาชนในพื้นที่สัมผัสโรคให้มีความรู้เรื่องโรคเรื้อน
                      4.2  ส่งเสริมให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและบริการด้านการป้องกันความพิการและการฟื้นฟูสภาพ
                      4.3  พัฒนาศักยภาพให้บุคลากรสาธารณสุขระดับตำบลที่มีผู้ป่วยในความรับผิดชอบ
                             สามารถให้บริการป้องกันความพิการและฟื้นฟูสภาพขั้นพื้นฐานได้
                      4.4  ส่งเสริม  พัฒนาให้ผู้ป่วยและสมาชิกในครอบครัวมีความรู้ ทักษะ สามารถดูแลตนเอง
                             ในด้านการป้องกันความพิการและฟื้นฟูสภาพอย่างยั่งยืน
                      4.5  ประสานการส่งต่อข้อมูลและผู้ป่วยเพื่อรับการรักษา  ฟื้นฟู  และสงเคราะห์ตาม
                                    ความเหมาะสม
                   5.  แผนงาน/โครงการที่รับผิดชอบ ปี 2555
                         5.1 โครงการที่ได้รับงบประมาณจาก  สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
                              5.1.1  โครงการส่งเสริมประสิทธิภาพการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์
                              5.1.2  โครงการส่งเสริมประสิทธิภาพการดำเนินงานควบคุมป้องกันวัณโรค
                              5.1.3  โครงการควบคุมและป้องกันโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ในกลุ่มผู้ให้บริการ
                                          ทางเพศ ปีงบประมาณ 2555
                              5.1.4  โครงการควบคุมป้องกันโรคเรื้อน ปีงบประมาณ 2555
                                5.1.5  โครงการเร่งรัดคัดกรองวัณโรค ปีงบประมาณ 2555
                         5.2  โครงการที่ได้รับงบประมาณจากกองทุนโลก
                              5.2.1  โครงการพัฒนากลไกการประสานงานป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี  จังหวัด
                                      กาญจนบุรี (Provincial  Co-ordinating  Mechanism : PCM)
                              5.2.2  โครงการ “การเสริมสร้างความเข้มแข็งการควบคุมวัณโรคอย่างมีคุณภาพ
                                      ในกลุ่มประชากรด้อยโอกาสและการเสริมสร้างพลังชุมชนเพื่องานวัณโรค
                                      ในจังหวัดกาญจนบุรี
                          5.3  โครงการที่ได้รับงบประมาณจากสำนักโรคเอดส์  วัณโรค  โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
                              5.3.1  โครงการพัฒนาคุณภาพบริการการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ผู้ใหญ่และ
                                      เด็กในประเทศไทย  ปีงบประมาณ 2553  จังหวัดกาญจนบุรี
                          5.4 โครงการที่ได้รับงบประมาณจากกองทุนเอดส์และวัณโรค สำนักงานหลักประกันสุขภาพ
                                 แห่งชาติ (สปสช.แจ้ง รับหนังสือ 11 ม.ค.55)
                                 ๕.๔.๑ โครงการส่งเสริมประสิทธิภาพระบบบริหารจัดการและการบริการผู้ติดเชื้อ
                                          เอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จังหวัด
                                          กาญจนบุรี ปี 2555  


                                                 *******************************************